ป้องกันการล้มในผู้สูงอายุ

ป้องกันการล้มในผู้สูงอายุ การหกล้มไม่เพียงแต่เป็นผลจากอายุที่มากขึ้นเท่านั้นนะครับ อันที่จริงแล้วการล้มมักเกิดจากหลายปัจจัย และสาเหตุของการล้มบางอย่างนั้นเราก็สามารถป้องกันได้ แนวทางหรือวิธีป้องกันการล้มในผู้สูงอายุ คุณสามารถลดโอกาสของการล้มด้วยการทำสิ่งเหล่านี้ครับ: 1. เริ่มออกกำลังกายเป็นประจำ  เริ่มออกกำลังกายเป็นประจำ : การออกกำลังกายเป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยลดโอกาสของการล้ม เพราะการออกกำลังกายทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น และช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น การออกกำลังกายในลักษณะที่ช่วยปรับปรุงความสมดุลและการประสานงานของร่างกาย ( เช่น Tai Chi ) จะมีประโยชน์มากที่สุด หากคุณขาดการออกกำลังกาย จะทำให้ร่างกายอ่อนแอและเพิ่มโอกาสของการล้ม อย่างไรก็ตาม หากคุณมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ของคุณก่อนเพื่อเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม 2. ทำให้บ้านปลอดภัยมากขึ้น ทำให้บ้านปลอดภัยมากขึ้น : ประมาณครึ่งหนึ่งการล้มทั้งหมดเกิดขึ้นที่บ้าน ดังนั้น คุณสามารถป้องกันการล้มได้ด้วยการทำให้บ้านของคุณปลอดภัยมากขึ้นด้วยการ นำสิ่งที่คุณสามารถเหยียบแล้วลื่น (เช่น เอกสาร , หนังสือ, เสื้อผ้า และรองเท้า ) ออกจากบันไดและสถานที่ที่คุณเดินผ่าน ไม่ใช้พรมผืนเล็ก หรือใช้เทปกาวติดพรมเพื่อป้องกันจากการลื่นไถล เก็บสิ่งของที่คุณใช้บ่อยๆ ไว้ในตู้ หรือชั้นวางที่คุณสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องใช้บันได ติดตั้งราวยึดจับติดในห้องน้ำและในอ่างอาบน้ำ หรือห้องอาบน้ำ ใช้แผ่นรองกันลื่นในอ่างอาบน้ำ และห้องอาบน้ำ ปรับปรุงเพื่อเพิ่มแสงสว่างในบ้านของคุณ เพราะเมื่อคนเราอายุมากขึ้นจะต้องใช้แสงสว่างเพื่อการมองเห็นที่ดี เพิ่มราวจับและไฟส่องสว่างบริเวณบันได สวมใส่รองเท้ามีแผ่นรองที่ดี และมีพื้นกันลื่น หากคุณเลี้ยงสัตว์เลี้ยงภายในบ้านต้องระวังไม่ให้สะดุดล้ม หรือนำสัตว์เลี้ยงไปเลี้ยงนอกบ้าน 3. นำยาของคุณไปให้แพทย์ตรวจสอบ นำยาของคุณไปให้แพทย์ตรวจสอบ  : ให้แพทย์หรือ เภสัชกรของคุณดูยาทั้งหมดที่คุณใช้ (รวมถึงยาที่คุณซื้อมาด้วยตนเองนอกเหนือจากที่แพทย์จ่ายให้ เช่น ยาแก้หวัด) เพราะเมื่อคุณอายุมากขึ้น ยาบางชนิดอาจมีการออกฤทธิ์ที่แตกต่างไป การทานยาหลายขนาน สามารถทำให้คุณง่วงนอน ปวดศีรษะ หรือเวียนศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถนำไปสู่การล้มได้ 4. รับการตรวจสายตา รับการตรวจสายตา : สายตาของคุณควรได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์ เพราะการมองเห็นของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา คุณอาจจะสวมใส่แว่นตาที่ไม่เหมาะกับปัญหาสายตา หรือมีโรค เช่น โรคต้อหินหรือต้อกระจก ที่อาจจำกัดการมองเห็นของคุณ ซึ่งปัญหาทางการมองเห็นแต่ละแบบควรได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม เพื่อการมองเห็นที่ดี ซึ่งจะช่วยลดโอกาสของการล้มได้ หากออกจากบ้านหรือออกไปนอกบ้าน 1. ควรใช้ไม้เท้าหรือวอล์คเกอร์สำหรับเพิ่มเสถียรภาพความมั่นคง 2. สวมใส่รองเท้าที่มีแผ่นรองและมีพื้นกันลื่น( nonslip ) 3. เดินบนหญ้าเมื่อพื้นทางเดินมีความลื่นในช่วงฤดูฝน 4. โปรดใช้ความระมัดระวังในบริเวณพื้นขัดมันเนื่องจากมีความลื่นสูงและเป็นอันตรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปียก ควรจะเดินบนพลาสติกกันลื่นหรือพรมกันลื่นเมื่อเป็นไปได้ 5. ควรหยุดที่ขอบทางเดินหรือทางโค้งทุกครั้งและตรวจสอบความสูงของขอบทางเดินก่อนที่จะก้าวขึ้นหรือลง

ปวดหลังร้าวลงขา รีบรักษา อาจไม่ต้องผ่าตัด

ปวดหลังร้าวลงขา รีบรักษา อาจไม่ต้องผ่าตัด ปวดหลังร้าวลงขา บางครั้งมีอาการชาร่วมด้วย หรืออาจมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา อาจบ่งบอกถึงภาวะความผิดปกติของกระดูกสันหลังและระบบประสาทหลังได้นะครับ หากไม่รีบตรวจรักษาอาจทำให้มีอาการปวดเรื้อรังทำให้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดในที่สุดครับ สาเหตุของอาการปวดหลังร้าวลงขาที่พบบ่อย หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อน โพรงกระดูกสันหลังตีบ ข้อต่อกระดูกสันหลังกับสะโพกมีปัญหา วิธีการรักษาดูแลตัวเองเบื้องต้น หากอาการยังเป็นไม่มากสามารถดูแลรักษาด้วยตัวเองที่บ้านได้นะครับ หลีกเลี่ยงการยกของหนักทุกชนิดในช่วงแรก โดยหลังจากที่เรารู้สึกมีอาการปวดควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมยกของหนักโดยทันทีครับ ไม่ควรฝืนยกนะครับจะทำให้อาการเป็นมากขึ้นครับ ใช้การประคบร้อนหรือเย็นช่วย ทานยาลดการอักเสบ แก้ปวด บริหารร่างกายโดยวิธีที่ไม่ลงน้ำหนัก เช่น ปั่นจักรยาน หรือ ว่ายน้ำ หากใช้วิธีรักษาเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้นอย่าปล่อยอาการปวดทิ้งไว้ให้กลายเป็นอาการปวดเรื้อรังนะครับ จะทำให้รักษายากขึ้นบางรายอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากจนต้องผ่าตัดรักษา วิธีที่สามารถใช้รักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาที่ได้ผลดีและไม่ต้องทำการผ่าตัดก็คือ  การฉีดยาเข้าโพรงประสาทรักษาอาการอักเสบของเส้นประสาทโดยตรง  ซึ่งผู้ป่วยบางรายที่เป็นไม่มากจะได้ผลดีครับ หากการอักเสบเป็นมากอาจต้องทำการฉีดซ้ำหลายครั้งครับ

อาหารที่ไม่ควรทานหากปวดหลัง หรือมีการอักเสบ

อาหารที่ไม่ควรทานหากปวดหลัง หรือมีการอักเสบ     คุณเคยได้ยินคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ถึงอาหารที่ไม่ควรทานหากเราเจ็บป่วยบ้างหรือปล่าวครับ ส่วนใหญ่เวลาเรามีอาการปวดหลังหรือเกิดการอักเสบที่จุดต่าง ๆ ของกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เรามักจะนึกถึงเรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องท้าย ๆเลย ใช่ไหมครับ แต่ทราบกันหรือไม่ครับว่า อาหารที่รับประทานก็มีส่วนทำให้เกิดอาการอักเสบหรือปวดอยู่บ้าง ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ     อาหารที่เราไม่ควรทานหากปวดหลังหรือมีการอักเสบ เป็นอาหารจำพวกที่ทำให้กระตุ้นกระบวนการอักเสบของร่างกายครับ เนื้อแดง อาหารแปรรูปขั้นสูง เช่น ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม อาหารกระป๋อง ไส้กรอก อาหารสำเร็จรูป ข้าวขาว ขนมปังขาว นมและโยเกิร์ตที่มีไขมันสูง เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง และขนมที่มีน้ำตาลสูง อาหารทอด อาหารที่มีไขมันชนิดทรานส์ อาหารที่มีผงชูรสมาก เครื่องดื่มอัลกอฮอล์     หากเรางดหรือลดอาหารจำพวกดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบได้อีกทางนึงนะครับ

10 สัญญานอันตราย ของอาการปวดหลัง!!!

10 สัญญานอันตราย ของอาการปวดหลัง!!!     สาเหตุของอาการปวดหลังอาจเป็นแค่กล้ามเนื้ออักเสบไปจนถึงมะเร็งก็เป็นได้ครับ แต่เมื่อไร่กันหละที่เราต้องระวังตัวให้มากหากมีอาการปวดหลัง หากคุณหรือญาติของคุณมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ คุณควรจะมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดนะครับ มีอาการปวดร้าวลงสะโพกหรือขา มีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการปวดตอนกลางคืน ปัสสาวะหรืออุจจาระผิดปกติ มีประวัติเป็นโรคมะเร็ง ทานยาแก้ปวดธรรมดาแล้วไม่ดีขึ้น มีประวัติได้รับอุบัติเหตุ มีไข้หรือหนาวสั่น อายุมากกว่า 50 ปี     อาการที่ผมได้กล่าวมาหากพบร่วมกับอาการปวดหลังแล้ว อาจนำไปสู่โรคร้ายแรงได้นะครับ เราไม่ควรนิ่งเฉยต่ออาการเหล่านี้ครับ     อาการส่วนใหญ่รักษาโดยการทานยา ฉีดยา กายภาพ โดยหากมาพบแพทย์เร็วโอกาสจะได้รับการผ่าตัดน้อยมากครับ     บทความกระดูกทับเส้น รักษาโดยไม่ผ่าตัด อ.นพ.กสิสิน กลั่นกลิ่น

กระดูก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

กระดูก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท     กระดูก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คุณอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด      คุณหรือพ่อแม่ พี่น้อง ป้ออุ๊ย แม่อุ๊ย ที่บ้านเคยมีอาการปวดหลัง ร้าวลงสะโพก ร้าวลงขา หรือชา หรือปล่าวครับ หากมีอาการที่ผมกล่าวมาท่านนั้นอาจมีภาวะกระดูก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทก็ได้นะครับ     ทำไมผมถึงต้องมาเขียนบทความเรื่องนี้ จริง ๆ แล้วผู้ป่วยโรคกระดูก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีอยู่เยอะมาก ๆ เลยครับ แต่ส่วนใหญ่ไม่ยอมมาหาหมอครับ (ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุนะครับ) เพราะว่ากลัวว่าจะถูกผ่าตัด หรือเคยได้ยินคนแถวบ้านบอกว่าไปผ่ามาแล้วไม่หาย แย่ลงกว่าเดิม ทำให้ต้องทนอยู่กับอาการเจ็บปวด คุณภาพชีวิตแย่ลง ไปเที่ยวไกล ๆ ไม่ได้อีกต่อไป ก่อนอื่นเรามารู้จักโรค กระดูก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทกันก่อนนะครับ     สาเหตุการทับเส้นประสาท กระดูกงอก กระดูกเสื่อม กระดูกเคลื่อน หมอนรองกระดูกเคลื่อน หมอนรองกระดูกเสื่อม ติดเชื้อ หรือ ก้อนเนื้องอd ฯลฯ  อาการที่พบ     ปวดหลัง ปวดสะโพก ร้าวลงขา ชาขา เดินหรือทำงานแล้วปวดมากขึ้น เมื่อนั่งพักแล้วดีขึ้น บางรายเป็นมากจนกล้ามเนื้ออ่อนแรง   การวินิจฉัยโรค     อาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย และในบางครั้งหมอจำเป็นต้องส่งตรวจพิเศษด้วย x-ray หรือ MRI การรักษา     ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเลยนะครับ แต่ที่สำคัญคือเราต้องทำความเข้าใจโรค หยุดทำงานหนัก หยุดยกของหนัก พยายามลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ มาก ๆ ครับ ทานยาจำพวกลดอาการอักเสบ แก้ปวดเท่าที่จำเป็น ยาแก้ปวดปลายประสาท บำรุงปลายประสาท คลายกล้ามเนื้อ และการรักษาอีก 1 วิธีก็คือ การฉีดยารอบโพรงประสาทหลังเพื่อลดอาการอักเสบของเส้นประสาทโดยตรง วิธีนี้ได้ผลดีถึงดีมาก ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง ร้าวลงสะโพกหรือลงขา โดยจะบรรเทาอาการปวดอย่างรวดเร็วครับ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการกดทับเส้นประสาทอย่างรุนแรงจนปัสสาวะอุจจาระไม่ได้หรืออ่อนแรงจนเดินไม่ได้ถึงจะมีความจำเป็นจะต้องผ่าตัดนะครับ     เมื่อเราทราบอย่างนี้แล้วจะเห็นว่าโอกาสที่จะต้องผ่าตัดมีน้อยมากเลยครับในตำราแพทย์บางเล่มเขียนไว้ว่าน้อยกว่า 10% ของผู้ป่วยปวดหลังครับที่จำเป็นต้องผ่าตัด อ.นพ.กสิสิน กลั่นกลิ่น

ปวดไหล่ บอกอะไรกับคุณได้บ้าง ?

ปวดไหล่ บอกอะไรกับคุณได้บ้าง ? ปวดไหล่ เป็นอาการที่พบบ่อยมากครับในทุกเพศทุกวัย ซึ่งนำไปสู่สาเหตุมากมาย เช่น เอ็นไหล่อักเสบ เอ็นไหล่ขาด กระดูกคอทับเส้นประสาท รวมทั้งโรคที่รุนแรงด้วยครับ เช่น โรคหัวใจ หรือ โรคมะเร็ง หากวินิจฉัยได้ไม่ถูกต้องอาจนำไปสู่การรักษาที่ผิดได้ครับ เรามาหาคำตอบกับบทความนี้ได้เลยครับ ตำแหน่งที่มีอาการปวดไหล่ ปวดด้านข้างไหล่ : อาจมีสาเหตุมาจาก ถุงน้ำไหล่อักเสบ เอ็นไหล่อักเสบ เอ็นไหล่ขาด ปวดด้านหน้าไหล่ : มักมีสาเหตุมาจาก เอ็นไบเซ็ปส์อักเสบ หมอนรองกระดูกไหล่ฉีกขาด ปวดด้านบนไหล่ : สาเหตุมักมาจาก ข้อต่อกระดูกไหปลาร้าอักเสบ ปวดร้าวไปแขน ศอก : อาจมีสาเหตุจากกระดูกคอเสื่อมหรือทับเส้นประสาท ปวดร้าวไปหน้าอกซ้าย ร่วมกับแน่นหน้าอก : อาจมีสาเหตุจากโรคหัวใจ ช่วงเวลาที่มีอาการปวด ปวดไม่เลือกเวลา : สาเหตุมาจาก โรคไหล่ติด กระดูกคอทับเส้นประสาท ปวดเวลาใช้ไหล่มาก ๆ : สาเหตุมาจาก เอ็นไหล่อักเสบ กล้ามเนื้อไหล่อักเสบ ปวดตอนกลางคืน : สาเหตุมาจาก เอ็นไหล่ฉีกขาด ติดเชื้อ หรือ มะเร็ง อาการอื่น ๆ มีเสียงดังในข้อไหล่เวลาขยับ : มีสาเหตุจาก ข้อไหล่เสื่อม เอ็นไหล่ขัดในข้อ หมอนรองกระดูกไหล่บาดเจ็บ ขยับไหล่ได้ไม่สุด : สาเหตุจาก โรคไหล่ติด เอ็นไหล่อักเสบ เอ็นไหล่ฉีกขาด ยกแขนไม่ขึ้น : สาเหตุจาก กระดูกคอทับเส้นประสาท เอ็นไหล่ฉีกขาด หากมีอาการปวดไหล่ร่วมกับอาการข้างต้นที่ผมได้กล่าวมาแล้วควรจะต้องไปพบแพทย์กระดูกและข้อเพื่อตรวจร่างกายวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องนะครับ อ.นพ.กสิสิน กลั่นกลิ่น

ประคบเย็นหรือร้อนดีนะ

ประคบร้อนหรือประคบเย็นดีนะ ?     คุณเคยสงสัยไหมครับว่าเวลาเราได้รับบาดเจ็บหรือ ปวดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เราควรจะใช้ความเย็นหรือความร้อนประคบดี เรามาหาคำตอบจากบทความนี้กันเลยนะครับ     การรักษาโดยการใช้การประคบเย็นหรือประคบร้อน เป็นการรักษาที่ทำบ่อยในการรักษาโรคทางกระดูกและข้อ โดยเฉพาะสาเหตุจากอุบัติเหตุ แต่คำถามก็คือว่าเมื่อไร่จะประคบเย็นหรือเมื่อไร่จะประคบร้อนดีหละ แล้วจะประคบไว้นานเท่าไร่ถึงจะพอดี การประคบเย็นหรือประคบน้ำแข็ง     การรักษาโดยการใช้การประคบเย็น ใช้บ่อยกับการบาดเจ็บทางกระดูกและข้อชนิดฉับพลันเป็นส่วนใหญ่ ถ้าหากคุณได้รับบาดเจ็บภายใน 48 ชั่วโมงคุณควรจะใช้วิธีการรักษาวิธีนี้เพื่อลดอาการบวมบริเวณตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น การใช้ถุงน้ำแข็งประคบบริเวณรอบข้อเท้าในผู้ป่วยอุบัติเหตุข้อเท้าแพลง โดยหากทำการประคบทันทีที่ได้รับการบาดเจ็บและประคบอย่าสม่ำเสมอในเวลา 48 ชั่วโมงแรกหลังได้รับการบาดเจ็บ จะสามารถลดอาการบวมได้อย่างดี สง่ผลให้อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บลดบวมลงจะทำให้ลดอาการปวดได้อย่างดีอีกด้วย     การรักษาโดยประคบน้ำแข็งยังสามารถใช้กับโรคเรื้อรังได้อีกด้วย ยกตัวอย่าง เช่น การใช้กล้ามเนื้อมากเกินไปในนักกีฬา ผู้สูงอายุที่ออกแรงเกินตัว ผังผืดกล้ามเนื้อบางชนิด การประคบน้ำแข็งหลังจากที่ทำกิจกรรมก็จะช่วยลดอาการอักเสบได้ แต่เราไม่ควรใช้น้ำแข็งประคบก่อนการทำกิจกรรมในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังนะครับ การประคบร้อน     การรักษาโดยการใช้ความร้อนควรจะใช้สำหรับโรคเรื้อรังเพื่อช่วยให้ผ่อนคลายและเพื่อให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ คลายตัวออกจากกัน และกระตุ้นให้มีการไหลเวียนของเลือดรอบ ๆ ของอวัยวะที่ทำการประคบ สามรถใช้วิธีประคบร้อนได้ในนักกีฬาที่ได้รับการบาดเจ็บกล้ามเนื้อเรื้อรังก่อนที่จะมีการทำกิจกรรม     เราไม่ควรใช้การประคบร้อนหลังจากทำกิจกรรม และไม่ควรใช้สำหรับผู้ป่วยที่พึ่งได้รับอุบัติเหตุมาใหม่ ๆ การประคบร้อนสามารถใช้ผ้าร้อนหรือกระเป๋าน้ำร้อนก็ได้ครับ โดยเมื่อทำการประคบร้อนจะต้องมีการเฟ้าระวังไม่ให้ร้อนเกินไปและใช้เวลาในการประคบนานมากเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการไหม้บริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรประคบร้อนในขณะนอนหลับ สรุปเย็น หรือ ร้อน ? เมื่อไร่ถึงไม่ควรประคบร้อนหรือเย็น     การประคบเย็นไม่สมควรทำเมื่อ ร่างกายหนาวสั่น     การประคบร้อนไม่สมควรทำเมื่อ ร่างกายร้อน เหงื่อแตก เนื่องจากว่าสมองจะมีการแปลผลว่าการกระทำของเราเป็นอันตรายต่อร่างกายมากขึ้น และสมองจะแปลผลการประคบของเราเป็นอาการปวดมากขึ้นแทน อ.นพ.กสิสิน กลั่นกลิ่น