กระดูกพรุน….ยากระตุ้นการสร้างกระดูก

กระดูกพรุน….ยากระตุ้นการสร้างกระดูก     ปวดหลัง…ตัวเตี้ยลง…เคยมีกระดูกหัก…อายุมาก อาจเป็นโรคกระดูกพรุนครับ กระดูกพรุนเป็นปัญหาระดับโลกที่ทางองค์การอนามัยโลกจัดว่าสำคัญเป็นอันดับสองรองจากโรคหลอดเลือด ท่านทราบหรือไม่ครับว่าในปัจจุบัน มีการรักษาโรคกระดูกพรุนรุนแรงโดยการใช้ยาฉีดกระตุ้นการสร้างกระดูกแล้วนะครับ     โรคกระดูกพรุน เกิดขึ้นจากการที่กระดูกมีการสูญเสียมวลกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก ซึ่งนำไปสู่การเกิดกระดูกหักและอาการปวดเกิดขึ้น แนวทางในการรักษาในปัจจุบันมีอยู่หลายอย่างครับ การได้รับสารอาหารที่เหมาะสมเพียงพอ โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามิน ดี การดำเนินชีวิตที่ส่งเสริมต่อสุขภาพที่ดี การป้องกันการล้ม ยาต้านการสลายกระดูก เช่น ยา bisphosphonate, raloxifene, denosumab และ strontium ยากระตุ้นการสร้างกระดูก คือ ยา teriparatide ยากระตุ้นการสร้างกระดูก (Bone forming agent)     ในปัจจุบันมีอยู่เพียงตัวเดียวซึ่งเรียกว่า teriparatide มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างกระดูกผ่านการปรับระบบฮอร์โมนของร่างกาย โดยวิธีใช้จะต้องฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังทุกวัน จากการศึกษาพบว่าสามารถกระตุ้นการเพิ่มมวลกระดูกได้มาก ลดอาการปวดหลัง และป้องกันการเกิดกระดูกหักได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นกระดูกพรุนรุนแรง เนื่องจากยามีราคาค่อนข้างแพงครับ หากผู้ป่วยยังไม่ได้เป็นกระดูกพรุนรุนแรงจึงน่าจะจะเหมาะกับการใช้ยาตัวอื่นมากกว่าครับ ซึ่งยังคงมียารักษากระดูกพรุนอีกมากมายในประเทศไทยครับ อ.นพ.กสิสิน กลั่นกลิ่น

หลังค่อมหรือตัวเตี้ยลง เกิดเป็นปกติในผู้สูงอายุจริงหรือ ?

หลังค่อมหรือตัวเตี้ยลง เกิดเป็นปกติในผู้สูงอายุจริงหรือ ?     ผมตรวจผู้ป่วยผู้สูงอายุที่ห้องกระดูก รพ.มหาราชนครเชียงใหม่(สวนดอก) มักจะเจอคำถามนี้อยู่เป็นประจำเลยครับ คุณยายหลังค่อม พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย ที่บ้านหลังค่อมตัวเตี้ยลง หรือบางทีเราไปที่วัดจะเห็นผู้สูงอายุเดินหลังค่อมกันเต็มไปหมด ส่วนใหญ่แล้วเราจะเข้าใจว่าเป็นปกติ อายุมากขึ้นก็เป็นอย่างนี้แหละ แล้วจริง ๆ มันเป็นอย่างนั้นหรือปล่าวครับ มาหาคำตอบกันนะครับ หลังค่อมหรือตัวเตี้ยลงเกิดจากอะไร     ปกติโดยธรรมชาติแล้วเมื่อเราโตถึงช่วงวัยรุ่นแล้วความสูงของมนุษย์จะอยู่ในจุดที่สูงที่สุด แล้วจะไม่มีการลดลงอีกหากไม่เกิดปัญหา ดังนั้นปัญหาที่เกิดคืออะไรกันหละ     1. ระดูกสันหลังยุบหรือหัก          กระดูกสันหลังหักอาจเกิดจากอุบัติเหตุ ล้ม กระแทก ฯลฯ ส่วนกระดูกสันหลังยุบอาจเกิดจากภาวะกระดูกพรุนแล้วทำให้กระดูกสันหลังยุบไปเอง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาจไม่รู้ตัวว่ามีกระดูกยุบไปแล้วหรือบางรายมีอาการเจ็บเล็กน้อยจนไม่ได้มาหาหมอ พอรู้ตัวอีกทีก็มีอาการมากหรือตัวเตี้ยลงไปมาก ทำให้มีอาการเจ็บปวดกระดูก     2. หมอนรองกระดูกทรุดหรือเสื่อม          หมอนรองกระดูกโดยตามธรรมชาติแล้วจะเริ่มเสื่อมเมื่ออายุ 20 ปลาย ๆ นะครับ(หลายคนคงคิดว่าทำไมเร็วจัง) ยิ่งอายุมากขึ้นกระบวนการเสื่อมก็จะเพิ่มมากขึ้น หมอนรองกระดูกทรุดหรือเสื่อมก็อาจทำให้เกิดหลังค่อมได้ครับ แต่จะทำให้ตัวเตี้ยลงไม่มาก ยกเว้นจะทรุดทุกตัวและทรุดมาก ๆ เท่านั้นแหละครับ     3. สาเหตุอื่น ๆ          พบได้ไม่บ่อยนะครับว่าจะเกิดจาก มะเร็งกระดูก หรือกระดูกติดเชื้อ เมื่อไรต้องมาพบแพทย์เมื่อเกิดหลังค่อมหรือตัวเตี้ยลง ถ้าเราไม่แน่ใจว่าหลังค่อมนั้นเกิดจากอะไร มีอาการปวดร่วมด้วย มีอาการปวดร้าวลงขาหรือชา ตัวเตี้ยลงกว่าสมัยหนุ่มสาวมาก แล้วทำไมต้องมาพบแพทย์ด้วยหละ     ก็เพราะว่าหากเราเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วไม่ได้ทำการรักษาจะทำให้มีโอกาสเกิดกระดูกสันหลังหักเพิ่มมากขึ้น มีโอกาสเกิดกระดูกสะโพกหักเพิ่มมากขึ้น กระดูกส่วนอื่น ๆ ของร่างการหักง่ายมากขึ้น และเมื่อมีกระดูกหักแล้วจะทำให้อัตราการตายเพิ่มมากขึ้นอย่างหลายเท่าตัวเลยครับ สรุป     หากเราเจอผู้สูงอายุที่บ้านเดินแล้วหลังค่อม ตัวเตี้ยลงอย่างชัดเจน อาจพบภาวะกระดูกพรุนหรือหมอนรองกระดูกเสื่อมก็ได้นะครับ เดินหลังค่อมไม่ได้เกิดในผู้สูงอายุทุกรายหรือเป็นปกติอยู่แล้วนะครับ หากเราไม่แน่ใจควรพามาพบแพทย์ครับ ผู้สูงอายุเป็นวัยที่คนหนุ่มสาวต้องช่วยกันดูแลท่านให้ดีที่สุดครับ อ.นพ.กสิสิน กลั่นกลิ่น

แคลเซียมเสริมชนิดไหนดีที่สุดกันนะ ?

แคลเซียมเสริมชนิดไหนดีที่สุดกันนะ ? ในปัจจุบันบ้านเรามีแคลเซียมเสริมให้เลือกรับประทานกันหลายชนิดอย่างมากมายเลยใช่ไหมครับ ทำให้เรามีความสบสนว่าควรจะเลือกรับประทานแบบไหนดีแล้วมันเพียงพอต่อความต้องการของเราหรือปล่าว ผมจะขอกล่าวถึงชนิดของแคลเซียมที่มีอยู่ในท้องตลาดเป็นกลุ่ม ๆ นะครับ โดยแคลเซียมนั้นเป็นแร่ธาตุซึ่งต้องจับกับสารประกอบถึงจะอยู่คงตัวได้ โดยจะแบ่งชนิดของแคลเซียมตามสารประกอบที่อยู่คู่กับแคลเซียมนะครับ แคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมซีเตรต แคลเซียมกลูโคเนต แคลเซียมกับกลุ่มอื่นๆ แคลเซียมเสริมมีให้เลือกมากมายแล้วชนิดไหนที่ดีที่สุดหละ ? นอกเหนือจากชนิดของแคลเซียมที่ได้กล่าวมาแล้วปริมาณแร่ธาตุแคลเซียมที่มีอยู่ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกันนะครับ คุณเคยลองดูที่ฉลากยาแคลเซียมเสริมที่รับประทานกันบ้างหรือปล่าวครับ โดยทั่วไปแล้วโรงงานผู้ผลิตยาหรืออาหารเสริมแคลเซียมมักจะมีการระบุปริมาณของแร่ธาตุแคลเซียมไว้ข้างกล่องยาอยู่แล้วนะครับหรือบางโรงงานอาจระบุแคลเซียมเป็นน้ำหนัก โดยที่แคลเซียมคาร์บอเนต เป็นชนิดของแคลเซียมเสริมที่มีความเข้มข้นของแร่ธาตุแคลเซียมมากที่สุด (ประมาณ 40 % ของน้ำหนัก) รองลงมาก็คือ แคลเซียมซีเตรต (ประมาณ 20 %ของน้ำหนัก) แล้วแคลเซียมที่มาจากเปลือกหอยนางรมหละ ? รูปแบบของแคลเซียมบางอย่างนั้นพบว่ามีพิษซึ่งมีการพิสูจน์พบสารตะกั่ว โดยแหล่งของแคลเซียมที่พบว่ามีสารตะกั่วก็คือแคลเซียมที่มาจาก เปลือกหอยนางรม โดโลไมท์ กระดูกป่น ดังนั้นเราควรจะหลีกเลี่ยงแคลเซียมเสริมที่มาจากแหล่งเหล่านี้นะครับ ที่สำคัญอีกประการคือแคลเซียมที่เราทานจะดูดซึมได้ดีเมื่อไร่ ? อาหารที่ทาน แคลเซียมแต่ละชนิดก็มีความต้องการอาหารที่แตกต่างกัน แคลเซียมคาร์บอเนตควรจะทานร่วมกับอาหาร ส่วนแคลเซียมซีเตรตควรรับประทานเมื่อท้องว่าง ยา แคลเซียมไม่ควรรับประทานร่วมกับยาบางกลุ่ม คือ ยาฆ่าเชื้อ ยาบำรุงเลือด และอื่น ๆ โดยแคลเซียมจะไปจับกับยาที่ทานเข้าไปแล้วไม่ดูดซึมเข้าร่างกายอย่างเต็มที่ วิตามิน ดี แคลเซียมจะดูดซึมได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อทานคู่กับวิตามินดีครับ ดังนั้นแคลเซียมเสริมบางยี่ห้อจึงนิยมรวมวิตามินดีกับแคลเซียมไว้ในเม็ดเดียวกัน ทำให้รับประทานได้สะดวกและง่ายขึ้นครับ ขนาดยาแคลเซียม เราควรรับประทานแคลเซียมโดยแบ่งเป็นสองหรือสามครั้งต่อวันแทนที่จะทานครั้งเดียวทั้งหมด เพื่อช่วยการดูดซึม

ป้องกันการล้มในผู้สูงอายุ

ป้องกันการล้มในผู้สูงอายุ การหกล้มไม่เพียงแต่เป็นผลจากอายุที่มากขึ้นเท่านั้นนะครับ อันที่จริงแล้วการล้มมักเกิดจากหลายปัจจัย และสาเหตุของการล้มบางอย่างนั้นเราก็สามารถป้องกันได้ แนวทางหรือวิธีป้องกันการล้มในผู้สูงอายุ คุณสามารถลดโอกาสของการล้มด้วยการทำสิ่งเหล่านี้ครับ: 1. เริ่มออกกำลังกายเป็นประจำ  เริ่มออกกำลังกายเป็นประจำ : การออกกำลังกายเป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยลดโอกาสของการล้ม เพราะการออกกำลังกายทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น และช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น การออกกำลังกายในลักษณะที่ช่วยปรับปรุงความสมดุลและการประสานงานของร่างกาย ( เช่น Tai Chi ) จะมีประโยชน์มากที่สุด หากคุณขาดการออกกำลังกาย จะทำให้ร่างกายอ่อนแอและเพิ่มโอกาสของการล้ม อย่างไรก็ตาม หากคุณมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ของคุณก่อนเพื่อเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม 2. ทำให้บ้านปลอดภัยมากขึ้น ทำให้บ้านปลอดภัยมากขึ้น : ประมาณครึ่งหนึ่งการล้มทั้งหมดเกิดขึ้นที่บ้าน ดังนั้น คุณสามารถป้องกันการล้มได้ด้วยการทำให้บ้านของคุณปลอดภัยมากขึ้นด้วยการ นำสิ่งที่คุณสามารถเหยียบแล้วลื่น (เช่น เอกสาร , หนังสือ, เสื้อผ้า และรองเท้า ) ออกจากบันไดและสถานที่ที่คุณเดินผ่าน ไม่ใช้พรมผืนเล็ก หรือใช้เทปกาวติดพรมเพื่อป้องกันจากการลื่นไถล เก็บสิ่งของที่คุณใช้บ่อยๆ ไว้ในตู้ หรือชั้นวางที่คุณสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องใช้บันได ติดตั้งราวยึดจับติดในห้องน้ำและในอ่างอาบน้ำ หรือห้องอาบน้ำ ใช้แผ่นรองกันลื่นในอ่างอาบน้ำ และห้องอาบน้ำ ปรับปรุงเพื่อเพิ่มแสงสว่างในบ้านของคุณ เพราะเมื่อคนเราอายุมากขึ้นจะต้องใช้แสงสว่างเพื่อการมองเห็นที่ดี เพิ่มราวจับและไฟส่องสว่างบริเวณบันได สวมใส่รองเท้ามีแผ่นรองที่ดี และมีพื้นกันลื่น หากคุณเลี้ยงสัตว์เลี้ยงภายในบ้านต้องระวังไม่ให้สะดุดล้ม หรือนำสัตว์เลี้ยงไปเลี้ยงนอกบ้าน 3. นำยาของคุณไปให้แพทย์ตรวจสอบ นำยาของคุณไปให้แพทย์ตรวจสอบ  : ให้แพทย์หรือ เภสัชกรของคุณดูยาทั้งหมดที่คุณใช้ (รวมถึงยาที่คุณซื้อมาด้วยตนเองนอกเหนือจากที่แพทย์จ่ายให้ เช่น ยาแก้หวัด) เพราะเมื่อคุณอายุมากขึ้น ยาบางชนิดอาจมีการออกฤทธิ์ที่แตกต่างไป การทานยาหลายขนาน สามารถทำให้คุณง่วงนอน ปวดศีรษะ หรือเวียนศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถนำไปสู่การล้มได้ 4. รับการตรวจสายตา รับการตรวจสายตา : สายตาของคุณควรได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์ เพราะการมองเห็นของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา คุณอาจจะสวมใส่แว่นตาที่ไม่เหมาะกับปัญหาสายตา หรือมีโรค เช่น โรคต้อหินหรือต้อกระจก ที่อาจจำกัดการมองเห็นของคุณ ซึ่งปัญหาทางการมองเห็นแต่ละแบบควรได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม เพื่อการมองเห็นที่ดี ซึ่งจะช่วยลดโอกาสของการล้มได้ หากออกจากบ้านหรือออกไปนอกบ้าน 1. ควรใช้ไม้เท้าหรือวอล์คเกอร์สำหรับเพิ่มเสถียรภาพความมั่นคง 2. สวมใส่รองเท้าที่มีแผ่นรองและมีพื้นกันลื่น( nonslip ) 3. เดินบนหญ้าเมื่อพื้นทางเดินมีความลื่นในช่วงฤดูฝน 4. โปรดใช้ความระมัดระวังในบริเวณพื้นขัดมันเนื่องจากมีความลื่นสูงและเป็นอันตรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปียก ควรจะเดินบนพลาสติกกันลื่นหรือพรมกันลื่นเมื่อเป็นไปได้ 5. ควรหยุดที่ขอบทางเดินหรือทางโค้งทุกครั้งและตรวจสอบความสูงของขอบทางเดินก่อนที่จะก้าวขึ้นหรือลง